วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

นาคปรก


พระพุทธรูปและพระเครื่องในลักษณาการที่เรียกว่า นาคปรกนับเป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงาม และมีนัยแสดงความหมายซึ่งสืบ ทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ลักษณะ นาคปรกที่พบเห็นนั้นมีหลายแบบ อาทิ เป็นรูปพระพุทธประทับนั่งทับบนบัลลังก์นาคขนด หรือมีขนดนาคล้อมรอบองค์พระพุทธ ปรากฏพญานาคแผ่เศียรอยู่ด้านบน มีทั้งเศียรเดียวและหลายเศียร เป็นต้น
คติความเชื่อเรื่อง พญานาคกับศาสนาปรากฏทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา สำหรับศาสนาพราหมณ์ นาคมีความสำคัญหลายประการ ตัวอย่างเช่น เป็นบัลลังก์ขององค์พระวิษณุในไวกูณฑ์ ที่เรียกว่า วิษณุอนันตศายินปัทมะนาภะหรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์หรือใน ครุฑปุราณะเรื่องพญานาควาสุกรีที่พันรอบเขา มิลินทระในคราวกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต การเป็นเทพพาหนะของพระวรุณ หรือพระพิรุณ ซึ่งทำหน้าที่ให้ฝน การเป็นสัตว์สำคัญที่เฝ้ามหานทีสีทันดรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตลอดจนการกล่าวถึงนาคในปุราณะต่างๆ
นอกจากเรื่องราวของ นาคยังสัมพันธ์กับพงศาวดารเขมร ซึ่งกล่าวถึงนาคว่าเป็นต้นบรรพบุรุษของขอมโบราณ และมักมาปรากฏช่วยสร้างเมืองอยู่เสมอ จนเมื่อชาวขอมจะสร้างศาสนาสถานต่างๆ ก็มักจะจำลองรูปพญานาคไว้ บ้างก็ถือว่านาคเป็นตัวแทนของสะพานสายรุ้งที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ด้วย
ส่วนพุทธศาสนา เป็นที่ทราบกันว่ามีความนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเกี่ยวเนื่องกับพญานาคที่ชื่อ มุจลินท์ซึ่งมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์ และกลายเป็นพระประจำวันเสาร์ นอกเหนือไปจากเรื่องพญานาคเลื่อมใสในพุทธศาสนาถึงขนาดปลอมตนมาขอบวชจนเรียกว่า บวชนาคมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ หากพิจารณาอาคารสถาปัตยกรรมจะพบเห็นเค้าเงื่อนที่พญานาคทำหน้าที่ปกป้องดูแลพระศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น การทำช่อฟ้า รวยระกา ใบระกา และหางหงส์ เป็นรูปพญานาค หรือการทำคันทวยเป็นรูปนาค เรียกกันว่า นาคทัณฑ์ล้อมรอบอุโบสถ วิหารไว้

ศิลปะพระพุทธรูปปางนาคปรกที่เก่าแก่ในแถบบ้านเรา อาจจะนับพระพุทธรูปหินแกะสลัก ศิลปะเขมรแบบบายน ที่ปรากฏในแถบเมืองลพบุรี ครั้งขอมเรืองอำนาจ และนับถือพุทธแบบมหายาน และยังปรากฏในพระเครื่องชนิดพระแผงที่เรียกกันในวงการพระว่า นารายณ์ทรงปืนซึ่งความจริงทำเป็นรูปพระปางนาคปรกอยู่กลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา ประทับอยู่ซ้ายขวา ซึ่งพระปางนาคปรก ทั้งองค์พระพุทธรูปหินจำหลักและที่ปรากฏในพระแผงนั้น เป็นการจำลองพระพุทธรูป พระชัยพุทธมหานาถที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ครองนครธม โปรดให้สร้างขึ้น 23 องค์ และพระราชทานไปประดิษฐานตามเขตแดนต่างๆ ที่เป็นขอบขัณฑสีมาในราชอาณาจักรของพระองค์
สยามประเทศ คงได้รับอิทธิพลการสร้าง พระปางนาคปรกจากเขมรก่อนเป็นเบื้องแรก ตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงเริ่มพบพระประเภทดังกล่าว และเมื่อราชสำนักพยายามรวบรวมพุทธประวัติ ได้มีการสร้างพระปางต่างๆ ตามเรื่องราว พระปางนาคปรกก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแสดงออกถึงอิทธิฤทธิ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อเมื่อมีการจัดสรรให้เกิดพระปางประจำวัน เพื่อเข้าไปทดแทนการบูชาเทพนพเคราะห์ ซึ่งได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไปจนถึงพระราหู พระเกตุทั้งเก้าดวง ซึ่งเป็นคติพราหมณ์ พระปางนาคปรกก็ได้รับการจัดสรรให้เป็นปางประจำวันเสาร์ แทนดาวพระเสาร์แต่นั้นมา
อาจกล่าวได้ว่า พระนาคปรกนับเป็นการแสดงถึงพุทธภาวะที่มีอยู่เหนือสัตว์สำคัญ เช่น พญานาค นอกเหนือไปจากการแสดงพุทธภาวะเหนือเหล่าอสูร ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติจนเหล่าอสูรยอมศิโรราบถวายตนเป็นผู้ปกป้องศาสนา อาทิ อาฬาวกยักษ์ และท้าวเวสสุวัณ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจ บุญบารมี และพระเมตตาของพระพุทธองค์ที่มีเหนือสามโลก เหนือทั้งเทพเทวะ มนุษย์ ยักษ์ สัตว์ ภูตผีปีศาจต่างๆ
ความสำคัญ
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วัน แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันนั้นเกิดฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย ครั้งฝนหายแล้ว พญามุจจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ" ความว่า "ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง"

พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคมุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า ปางนาคปรก เรื่องพระปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์ ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชิ้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น