วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บทความธรรมะน่าอ่าน จากวัดแก้วรังษี

คำนินทาใดๆ ไม่อาจทำคนดีให้เป็นคนไม่ดีไปได้
คนจะดีก็เพราะกรรม คนจะเลวก็เพราะกรรมหาใช่จะดีเพราะสรรเสริญ หรือจะเลวเพราะนินทาก็หาไม่ควรถือความจริงนี้เป็นสำคัญ และ อย่าทำหรือไม่ทำอะไรเพราะกลัวนินทาหรือเพราะปรารถนาสรรเสริญ อย่าทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่แม้เพียงสงสัยว่าเป็นกรรมไม่ดีแต่จงทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่พิจารณาแล้วตระหนักแน่ชัดว่าเป็นกรรมดีเท่ากัน แม้ว่าการทำกรรมดีจะมีผู้นินทานินทานั้นไม่มีโทษแก่ผู้ถูกนินทาเลยถ้าผู้ถูกนินทาไม่รับ คือไม่ตอบ เช่นเดียวกับผู้ถูกด่าไม่ด่าตอบ ผู้ถูกขู่ไม่ขู่ตอบ ผู้ถูกชวนวิวาทไม่วิวาทตอบแต่คำนินทาว่าร้ายทั้งจะตกเป็นของผู้นินทาทั้งหมดผู้นินทาคือผู้ทำกรรม ซึ่งเป็นกรรมไม่ดีไม่ว่าผู้ถูกนินทาจะรับหรือไม่รับก็ตามผู้นินทาย่อมได้รับผลไม่ดีแห่งกรรมไม่ดีของเขาอย่างแน่นอน ดังนั้นแม้เมื่อถูกนินทาแล้ว ก็ให้คิดว่าผู้นินทาเราได้รับการตอบแทนแล้ว คือได้รับผลของกรรมไม่ดีซึ่งจะส่งผลให้ปรากฏช้าหรือเร็วเท่านั้น ผลของกรรมไม่ดีนั้นแหละได้ตอบแทนเขาผู้นินทาแล้ว เราไม่มีความจำเป็นต้องตอบแทนแต่อย่างใด ความเชื่อในเรื่องกรรม และผลของกรรมมีคุณอย่างที่สุดผู้ใดทำกรรมไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อเช่นนี้จักทำให้ไม่คิดร้ายตอบผู้คิดร้ายเป็นการระงับเวรภัยไม่ให้เกิดแก่ตนเป็นการป้องกันตนมิให้ทำกรรมไม่ดีทั้งทางกายวาจาและใจโดยมุ่งให้เป็นการแก้แค้นตอบแทนผลจักเป็นความสงบสุขแก่ตนและแก่ผู้อื่นด้วย

ผู้ไม่มี ศีล ๕ ย่อมมีแต่ภัยเวร
               พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดี ถึงเรื่องศีล ๕ ว่า ผู้ไม่รักษาศีล ๕ ย่อมมีแต่ภัยและเวร ตายแล้วจะต้องตกนรกอีกด้วย ตอนหนึ่งทรงแสดงว่า “คฤหบดี! คนผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในภพหน้าก็มี ได้รับทุกข์ทางใจก็มี เพราะการฆ่าสัตว์เป็นเหตุ เมื่อเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นก็ย่อมสงบระงับ

คนผู้มีปกติลักทรัพย์ ย่อมประสบภัยเวร

คนผู้ประพฤติผิดในกาม ย่อมประสบภัยเวร

คนผู้มีปกติพูดเท็จ ย่อมประสบภัยเวร

คนผู้มีปกติดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในภพหน้าก็มี ได้รับทุกข์ทางใจก็มี เพราะการดื่มสุราเป็นเหตุและปัจจัย เมื่อเว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอันนั้นย่อมสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้”

สิ่งควรรักษาคือ        จิต
สิ่งที่ควรพินิจคือ       ธรรม
สิ่งที่ควรจำคือ          คุณท่าน
สิ่งที่ควรสืบสานคือ    ไมตรี
สิ่งที่ควรมีคือ            ความรู้
สิ่งที่ควรต่อสู้คือ        กิเลส
สิ่งที่ควรปฏิเสธคือ      ความชั่ว
สิ่งที่ควรกลัวคือ         บาป
สิ่งที่ควรใช้อาบคือ      กุศล
สิ่งที่ควรหนีพ้นคือ       สงสาร
สิ่งที่ควรประหารคือ      ความไม่รู้
สิ่งที่เป็นครูคือ            ความผิด
สิ่งที่ควรใกล้ชิดคือ       พระพุทธศาสนา

พุทธศาสนา กับ เยาวชน
ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติไทย มาแต่ครั้งโบราณเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ในครั้งโบราณ ลูกหลานคนไทยส่วนใหญ่ แม้แต่บุตรหลานของ ข้าราชบริพาร น้อยใหญ่ ต่างก็ล้วนได้ร่ำเรียนวิทยาการด้านต่างๆ มาจากวัด จะเรียกว่าวัดเป็นโรงเรียนสรรพอาชีพ ของประชาชนในสมัยนั้นก็ว่า ได้และก็ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อวัด เป็นเสมือนหนึ่งโรงเรียนแล้ว เหล่าพระสงฆ์ทั้งหลายล้วนมีสถานะเป็นครู อีกสถานะหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็น ผู้สืบทอดพุทธศาสนาทำไมพระสงฆ์ในสมัยโบราณ จึงมีความรู้ ความสามารถรอบด้าน ท่านทั้งหลายลองให้สมองคิดพิจารณาดู อาจจะเกิดความเข้าใจได้ ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง  พระสงฆ์ทั้งหลายในสมัยโบราณ ไม่ผูกติดกับหลักธรรม ,วินัย จนไม่มองถึงหลักความจริง จนไม่มองถึง ความจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้ศรัทธา และการปกครองบ้านเมืองตามหลักวิทยาการทุกแขนงแต่พระสงฆ์ทั้งหลายในสมัยโบราณ เป็นผู้รอบรู้ ตามหลักความเป็นจริง ตามหลักความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ และการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน ตามยุค ตามสมัยดังนั้น บุตรหลาน ของประชาชนทุกระดับชั้น ที่ได้เข้าเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ในวัด ล้วนได้รับ วิทยาการทุกด้าน ตั้งแต่ ด้านศีลธรรม ตามหลักความเป็นจริง ของพุทธศาสนา จนไปถึงการได้ร่ำเรียน ศิลปะวิทยาการ ในด้านต่าง ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ครบถ้วนในกระบวนการศึกษาของแขนงวิชาต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว การเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ การสังคม มานุษยวิทยา และอื่นๆ อีกมากมาย ในยุคสมัยนั้น
บุตรหลานของประชาชนทุกระดับชั้นในสมัยนั้น เมื่อได้รับการขัดเกลา และอบรมจากพระสงฆ์ ตามหลักความเป็นจริง ตามหลักธรรมชาติ อันเป็นไปตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนา เยาวชน บุตรหลานทั้งหลาย เหล่านั้น จึงประกอบไปด้วย ศีลธรรม สืบเนื่องต่อๆกันมา จนกลายเป็นจารีตวัฒนธรรมประเพณี  ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเฉพาะตัวบุคคล เช่นการ บวช, หรือทั้งที่เป็นการสังคมของชุมชน  เช่น ประเพณีต่างๆ ดังที่ท่านทั้งหลายคงได้ยิน ได้เห็น ตามท้องถิ่นต่างๆ ของแต่ละจังหวัด แต่ละภาคของประเทศไทย อยู่แล้ว
เมื่อท่านทั้งหลายมองดูในยุคปัจจุบันนี้ การสังคมเป็นอยู่ของประชาชน ได้แปรเปลี่ยนไป ตามกระแสโลกาภิวัตน์ เหล่าพระสงฆ์ ผูกติด กับธรรม,วินัย จนไม่ศึกษา ให้เป็นไปตามหลักความจริง ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ไม่เกิดการพัฒนา ในด้านความรู้  ความเข้าใจ เกี่ยวกับ หลักธรรมทั้งหลายที่มีอยู่
ดันทุรังดื้อด้าน  ไม่คิดพิจารณา ถึงหลักความเป็นจริง ไม่มีความรู้ทางด้านธรรมอย่างแท้จริง และยังมีอีกหลายอย่าง ที่พระสงฆ์ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในความหมายของคำสอนแห่งพระไตรปิฎก แต่กลับกลายเป็น ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่ได้ร่วมกัน ศึกษา พิจารณา ให้เป็นเกิดการพัฒนา ตามยุค ตามสมัย ตามการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน ในยุคปัจจุบันสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถอบรมขัดเกลา เยาวชน ให้มีความยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน เพราะสิ่งที่พระสงฆ์นำมาสอน ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เป็นไปตามสังคมปัจจุบัน
พุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้ผู้คนทั้งหลาย หลีกหนี หรือหลบหลีก ให้ห่างไกลจากอบายมุขทั้งหลาย แต่เพียงอย่างเดียวแต่พุทธศาสนา สอนให้ผู้คนทั้งหลาย ได้รู้ ได้เข้าใจ ถึงธรรมชาติของมนุษย์  ธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย และยังสอนให้ผู้คนทั้งหลายได้เข้าใจ ในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ชั้นปุถุชนคนทั่วไปทั้งหลายเป็นต้นไป  หมายความว่า พุทธศาสนา สอนให้รู้จักคิด รู้จักใช้ประสบการณ์  รู้จักคุณ รู้จักพูด รู้จักการทำมาหากิน รู้จักการกระทำในการทำมาหากิน    รู้จักความเป็นพ่อแม่ บุตร ฯลฯ รู้จักหน้าที่  รู้จักการให้ตามหน้าที่ นั้นๆ อย่างนี้เป็นต้น
หากบุคคลากรทางศาสนา รวมไปถึงเยาวชน บุตร ธิดา ทั้งหลาย ได้เรียนรู้ จนเกิดความเข้าใจ ตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนา ที่เป็นไปตามหลักความจริง เป็นไปตามหลักธรรมชาติการพัฒนาจิตใจ แห่งเขาเหล่านั้น ก็จะเริ่มขึ้น แต่ก่อนจะเริ่มการพัฒนาจิตใจ ความคิด ความรู้ ความเข้าใจของเยาวชน บุตร ธิดา ทั้งหลายบุคคลากรทางพุทธศาสนา ควรได้ มีความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในตัวเอง ให้เป็นไปตามหลักความจริง ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ เพราะ ยุคสมัยนี้ และต่อไปในอนาคต วิทยาการต่างๆ ล้วนแสดง หรือ ทำให้เยาวชน บุตรธิดาทั้งหลาย ได้รู้ว่า สิ่งที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรืออื่นใด มีความจำเป็นในชีวิต ในความคิด ในความรู้ ของพวกเขาทั้งสิ้น ให้เหล่าพระสงฆ์ และบุคคลากรทางพุทธศาสนา ได้ร่วมกันศึกษา พิจารณา เพื่อพัฒนาทั้งตัวเอง และเยาวชน บุตรธิดาให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปเถิด

หลักแห่งปัญญา
คือ กาลามสูตร แปลว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล เรียกว่า เกสปุตตสูตร ก็มี กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่องมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดี ก่อนเชื่อ มี ๑๐ ประการคือ

1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
10.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อนได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิดหรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น