วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

ผู้ให้ข้อมูล เกื่ยวกับประวัติการสร้างอุโบสถหลังเก่า



ผู้ให้ข้อมูลการก่อสร้างอุโบสถหลังเก่า

คุณตาทอง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2461  ปัจจุบันอายุ 98 ปี(เสียชีวิตแล้ว)
คุณตาทองได้เล่าว่า ก่อนที่สร้างสิม(อุโบสถ)ได้มีอุโบสถเดิมอยู่กอ่นแล้ว และก็ใช้ทำสังฆกรรม เช่น บวชพระที่ในนั้น ลักษณะเป็นเรือนใช้ไม้เสามาฝังติดๆกันเป็นกำแพง ขนดินเข้าด้านใน และมีหลังคาที่มุงด้วยไม้ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อตาทองอายุได้ประมาณ 10 ขวบ จึงมีการรื้อหลังเดิมออก และทำใหม่แทนหลังเดิม โดยการนำของพ่อถ่านเก่ง โดยมีช่างทำโครงสร้างชื่อจารครูศรีคนบ้านห้วยหมากเป็นนายช่างผู้พาชาวบ้านและพระช่วย และการ ทำโครงสร้างเบื้องต้น โดยการพาชาวบ้านปั้นและเผาอิฐที่หนองปะแซง อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด โดยการใช้ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้าน และตัวคุณตาเองได้มาช่วยทุกอย่างตั้งแต่เริ่มแรกไม่เคยขาด เช่น หาบดิน เผาอิฐ ขนดิน ขนอิฐ ตำดิน ทำกับข้าวกับปลามาถวายพระ เมื่อทำโครงสร้างเสร็จแล้วจึงได้ว่าจ้าง แกวนา กับแกวบุญ ซึ่งได้เดินทางมาจากเมืองปากเซ ประเทศลาว เพื่อมาทำลวดลายประดับประดาทั้งหมด รวมทั้งนาค สิง ลายทีเขียนด้านใน ลายปูนปั้นด้านนอก ที่บันไดขึ้นด้วย ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณเกือบสิบปีจึงสำเร็จเสร็จสิ้นลง  แล้วช่างแกวนาจึงได้ปั้นพระประธานในอุโบสถ เป็นอันแล้วเสร็จดี จึงได้มีการฉลอง มีการนิมนต์พระมาเทศน์ทั้งวัน กลางคืนมีมหรสพ ซึ่งงานฉลองอุโบสถและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2485 สิ้นงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 1,500 บาท
คุณยายปุ้ก เกิดปี พศ.2465 ปัจจุบันอายุ 94 ปี
คุณยายปุ้ก กล่าวถึงเหตุการณ์การสร้างอุโบสถหลังเก่าว่า ก่อนที่จะมาสร้างใหม่นั้น เดิมทีมีอุโบสถ์ที่ทำจากไม้มาเรียงกันฝังเป็นเสาเรียงชิดกันมีหลังคามุงด้วยไม้ตะเคียน มีการเทพื้นด้วยปูนต่อมาหลังนั้นทรุดโทรมมาก พ่อถ่านเก่งจึงได้พาชาวบ้านสร้างอุโบสถหลังนี้ขึ้นมา และตัวคุณยายเองนั้นได้มาช่วยหาบดิน ขนอิฐ ถางป่า ตักน้ำ ช่วยการก่อสร้างทุกอย่างช่างที่มาเริ่มทำมาจากบ้านห้วยหมาก ชื่อจารครูศรี  ส่วนช่างที่มาวาดภาพชื่อช่าง แกวนา มาสร้างอยู่ แรงงานหลักคือพระและชาวบ้าน ประมาณ ๑๐ ปี จึงแล้วเสร็จ มีการฉลองอย่างใหญ่โต มีการเทศน์ทั้งวันทั้งคืน สมัยนั้นมีพระมากอาศัยอยู่ในวัดแต่มีกุฎีแค่สามหลังเล็กๆมุงด้วยหญ้าอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถ์ สมัยนั้นที่สร้างอุโบสถนั้นต้นโพธิ์ที่หน้าโบสถยังไม่โตมาก แต่ต้นค้อที่ทางทิศเหนือของโบสถ์นั้นโตมากแล้ว
ยายบล เกิด พ.ศ. 2474 ปัจจุบันอายุ 85 ปี
คุณยายบล ได้กล่าวว่าสมัยการสร้างอุโบสถนั้น ยังเป็นตำบลวาริน อำเภอโขงเจียมอยู่ บ้านดอนใหญ่ทั้งสองหมู่บ้านมีประชากรรวมกันแล้วสัก 60 หลังคาเรือน สมัยนั้นทองบาทละ 400 บาท ซึ่งเงินเป็นของหายากมาก ตัวคุณยายก็ได้มาช่วยชาวบ้านขนดิน ขนอิฐ ทำช่วยทุกอย่างเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ สมัยนั้นมีพ่อถ่านเก่งเป็นคนพาชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง เป็นการก่อสร้างจากศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จะเห็นจากคนในสมัยนั้นมีการงานมากอยู่แล้ว เพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างคนทุกวันนี้  ทั้งต้องตำข้าว ผ่าฟืน ตักน้ำ กลางคืนต้องเข็นฝ้ายเพื่อทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม แต่ก็ไม่เคยที่จะขาดการไปทำงานที่วัดเลย ตอนสร้างอุโบสถนั้น มีช่างชื่อจารครูศรีคนบ้านห้วยหมาก มาเป็นช่างก่อนทำโครงสร้าง ตัดไม้ ถากไม้ ทำโครงสร้างตั้งแต่เสา ถึงหลังคา พาชาวบ้านเผาอิฐ ขนดิน  ต่อมาจึงให้ช่างแกวนามาทำลวดลาย ทั้งเขียนภาพด้านใน และลวดลายประดับด้านนอก ช่างนานี้เก่งมาก แล้วเสร็จในปี 2482 สุดท้ายจึงปั้นพระประธานในอุโบสถ ใช้เวลาปีกว่าๆจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อพร้อมถึงปี 2485 จึงทำการฉลองพระอุโบสถ มีพระมาเทศน์จากหลายที่ คุณยายไปนั่งฟังด้วย ตอนนั้นมีกุฏิพระ สามหลังด้วยกัน มีพระอยู่ในวัดสิบกว่ารูป อาหารการกินอุดมสมบูรณ์
คุณตาพลอย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2476 ปัจจุบันอายุ 83 ปี
          คุณตาพลอย ได้กล่าวถึงการสร้างอุโบสถไว้ว่า ใช้เวลาสร้างประมาณไม่ถึงสิบปี โดยช่างแกวนา เป็นช่างที่มาทำลวดลายประดับประดา และช่างจารครูศรี ได้เป็นคนมาทำโครงสร้างก่อน เคยได้ยินว่ามีการสร้างแทนอุโบสถเก่าเหมือนกัน วิธีการสร้างขั้นแรกคือการนำอิฐที่เผาแล้วมาก่อขึ้นเป็นฐาน แรงงานก็ได้จากชาวบ้านและพระมาช่วยกัน ตกค่ำมามีการตีกองโฮม เพื่อเป็นสัณญาณให้ชาวบ้านหนุ่มสาวมาช่วยกัน ขนดิน ขนอิฐ จนแล้วเสร็จและมีการฉลองเมื่อปี 2485 หลังคาใช้ไม้ตะเคียนและไม้แดงมุง ตัวคุณตาเองได้มีส่วนในการทำหลังคาด้วย และมีการซ่อมแซมเปลี่ยนไม้ที่มุงแล้วหนึ่งครั้ง ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นสังกะสีอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ผู้สืบค้นข้อมูล
Cr.พระอธิการวิเชียร วิชฺชาธโร เจ้าอาวาสวัดแก้วรังษี
พระณัฐพงศ์ ปญฺญาพโล ผู้บันทึก
ลงบันทึกข้อมูลเมื่อ วันที่ 17 กันยายน 2559.